เชื่อได้ว่ามิตรรักแฟนเบียร์ทุกคน คงเคยได้ยินคำบอกว่า “อย่าดื่มเบียร์ตอนท้องว่าง” หรือว่า “ดื่มเบียร์ตอนท้องว่างแล้วจะเมาเร็ว” กันแน่นอน ซึ่งเราก็เช่นกัน และสำหรับใครที่สงสัยว่า ทำไมดื่มเบียร์ตอนท้องว่างแล้วเมาเร็ว เรามาหาคำตอบกัน
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกับกระบวนการทำงานของร่างกายกันก่อน เมื่อเราทานอาหารเข้าไป อาหารจะถูกลำเลียงไปที่กระเพาะอาหาร ในกระเพาะอาหารนี้จะเอ็นไซม์ช่วยย่อยอาหาร จากนั้นก็จะส่งต่อไปที่ลำไส้เล็ก ซึ่งกระบวนการดูดซึมสารอาหารจะเกิดขึ้นมากที่สุดที่ลำไส้เล็ก
Health vector created by brgfx – www.freepik.com
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็เช่นเดียวกัน เมื่อเราบริโภคแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดตอนที่อยู่ในกระเพาะเพียงแค่ 5-10% เท่านั้น และที่เหลือ 90-95% จะถูกดูดซึมที่ลำไส้เล็ก
เมื่อกระเพาะของเราสามารถดูดซึมแอลกอฮอล์ได้เพียงแค่ 5-10% หมายความว่าหากชะลอให้แอลกอฮอล์ตกถึงลำไส้เล็กได้ช้า ก็จะทำให้แอลกอฮอล์ถูกดูดซึมช้าลง แล้วเราจะทำอย่างไรให้แอลกอฮอล์อยู่ในกระเพาะให้ได้นานที่สุด
คำตอบคือ เราต้องกินนั่นเอง
เมื่อในกระเพาะมีอาหาร กล้ามเนื้อหูรูดที่ควบคุมการไหลของอาหารตรงส่วนปลายกระเพาะอาหารจะปิด เพื่อกักให้อาหารอยู่ในกระเพาะเพื่อทำการย่อย
ดังนั้นเมื่อเราดื่มแอลกอฮอล์ในขณะที่ท้องว่าง แอลกอฮอล์ก็จะถูกลำเลียงมากระเพาะอาหาร และเมื่อไม่มีอาหารอยู่ในท้อง กล้ามเนื้อหูรูดปลายกระเพาะจึงไม่ได้ปิด และแอลกอฮอล์ก็ถูกส่งต่อไปยังลำไส้เล็ก จุดที่จะมีการดูดซึมแอลกอฮอล์มากที่สุด ได้เร็ว
นั่นคือคำตอบว่าทำไมดื่มแอลกออฮล์ตอนท้องว่างถึงทำให้เมาเร็ว
กลับกันหากเราดื่มแอลกอฮอล์ในขณะที่ท้องมีอาหาร กล้ามเนื้อหูรูดปลายกระเพาะจะปิดเพื่อย่อยอาหาร ทำให้แอลกอฮอล์ที่เราดื่ม เดินทางไปลำไส้เล็กได้ช้าลง
เมื่อรู้แล้วว่าเราไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ตอนท้องว่าง แต่ว่าจะกินอะไรดีล่ะ?
แนะนำรองท้องด้วยอาหารที่ต้องใช้เวลาย่อยพอสมควร ซึ่งอาหารแต่ละประเภทก็จะมีเวลาย่อยนานแตกต่างกัน พวกผักผลไม้ก็จะย่อยเร็วหน่อย ไม่เกิน 2 ชม. พวกคาร์โบไฮเดรต เช่นข้าว ก็จะใช้เวลานานขึ้น ประมาณ 2-4 ชม. พวกโปรตีน เนื้อสัตว์ประมาณ 4-6 ชม. และมากที่สุดคือพวกไขมัน ผลิตภัณฑ์จากนม อาจใช้เวลาถึง 7-8 ชม.
อันนี้เป็นตัวเลขคร่าวๆ ซึ่งจะแตกต่างกันตามแต่ละบุคคล และวิธีการประกอบอาหารด้วย เช่นอย่างไข่เหมือนกัน หากเป็นไข่ออนเซ็น (ไม่ได้สุกมาก) ก็จะใช้เวลาย่อยน้อยกว่าไข่ต้มที่ต้มจนสุก
ถ้าเป็นเมนูที่ดูเป็นกับแกล้มหน่อย ก็อาจจะเป็น สเต็ก, ไก่ทอด ต่างๆ ที่มีทั้งเนื้อสัตว์และน้ำมัน แต่ว่า ไม่ได้หมายความว่าให้สั่งแต่กับแกล้มหนักๆมากินตลอดการดื่มเบียร์ กับแกล้มก็ควรจะอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม และเบียร์ก็เช่นกัน
ดูคลิปเบียร์จ๋าTV ตอนของฝากนักกรึ๊บ
Reference
- Book : 酒好き医師が教える最高の飲み方 太らない、翌日に残らない、病気にならない ISBN:978-4-8222-5893-1
- https://youtu.be/gCrmFbgT37I
- https://youtu.be/1xVqwYxe4Gw
- https://youtu.be/txNISaSN9OM
- https://youtu.be/-sgk9fMWq_Y
- https://youtu.be/JLMV_A-1aaE
- https://www.hospita.jp/medicalnews/20170221l/
Add comment